ปลามังกรป่วย และ การสังเกตปลามังกรป่วย ที่พบบ่อยๆ
ในบทความนี้จะพูดถึงแต่ในเรื่อง ปลามังกรป่วย รวมไปถึง การสังเกตปลามังกรป่วย แนวทางป้องกัน และ การรักษาปลามังกรป่วย (เบื้องต้น) เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าการรักษาปลาที่ถูกต้อง จะต้องถูกวินิฉัยจากบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ในกรณีที่เราไม่สามารถพาปลาไปพบสัตวแพทย์ได้ การรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองก็อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผมก็จะบอกว่า โอกาสหายนั้น ก็อาจจะมีไม่เท่าการพาไปพบสัตวแพทย์ เผลอๆอาจจะหนักกว่าเก่าก็เป็นไปได้ครับ
และก่อนที่จะเริ่มเรื่อง เรามาสรุปก่อนนะครับว่า สาเหตุการตายหลักๆมีอะไรบ้าง
4 สาเหตุหลักๆที่ทำให้ปลาตายมีดังต่อไปนี้
- ปลามังกรบาดเจ็บ (อ่านย้อนหลัง)
- ปลามังกรน๊อคน้ำ (อ่านย้อนหลัง)
- คุณภาพน้ำแย่ (อ่านย้อนหลัง)
- ปลามังกรป่วย (บทความนี้ที่กำลังพูดถึง)
การสังเกตปลามังกรป่วย
สำหรับปลามังกรนั้น การสังเกตปลามังกรป่วย จะมีความสำคัญมาก เพราะยิ่งเรารู้ว่าปลาป่วยได้เร็วเท่าไร การรักษาให้หายก็จะยิ่งมีโอกาสสูงมากขึ้นไปด้วย และการสังเกตปลาป่วย หากพบอาการเหล่านี้มากกว่า 1 อย่าง ก็เข้าข่ายปลาป่วย ซึ่งต้องเริ่มเฝ้าดูอาการหรือเริ่มรักษาปลาให้เร็วที่สุดแล้วครับ
- ปลาหายใจหอบ หายใจหนัก แรงและถี่ เกิน 5 นาที
- ปลาหลังลอยนิ่งๆพ้นผิวน้ำ บางกรณีปลาจะเชิดหัวเหนือผิวน้ำแล้วฮุบอากาศ พร้อมกับว่ายพุ่งไปข้างหน้าแบบไม่รู้ทิศทาง รวมไปถึงว่ายชนตู้
- ปลาเสียการทรงตัว เช่นหงายท้อง หรือแม้กระทั่งว่ายควงสว่าน
- ปลาถูตู้ โดยเอาลำตัวถูกับตู้ตลอดเวลา
- น้ำเหม็นคาวผิดปกติ ปลาขับเมือก
- แก้ม/เบ้าหน้า บวม
- เกล็ดอ้า มากกว่า 1 เกล็ด
- เกล็ดมีรอยช้ำแดง หรือเป็นขึ้นลายสีดำ (คล้ายอักขระ)
- หงายท้อง
- หนวดเหมือนหนวดปากหมึก
- หางเปื่อย
- เกล็ดกร่อนและลามไปเรื่อยๆ
- มีเส้นขาวๆยาวๆโผล่มาจากคาง ครีบ หาง (เป็นปรสิต)
- หัวเป็นรูเหมือนโดนเจาะ (มีมากกว่า 1 รู)
- ตาขุ่น (บางกรณีวุ้นตาจะขุ่นและโป่งบวมออกมาด้วย)
ปลามังกรป่วย ป่วยได้จากอะไรบ้าง
หลงเจียงอโรวาน่าเคยบอกไปว่า หากปลามังกรเกิดการบาดเจ็บ บวกกับคุณภาพน้ำในตอนนั้นก็ไม่ดี น้ำเป็นพิษกับตัวปลา ก็อาจจะทำให้ปลาป่วยได้ แต่ถ้าหากว่าทุกอย่างดีอยู่แล้วปลายังป่วยล่ะ ? เราพอจะวิเคราะห์อะไรได้บ้าง ลองมาดูกันครับ
– ปลามีเชื้อจากแหล่งเดิม
จะเกิดในกรณีที่เราเพิ่งซื้อปลาเข้ามา บวกกับความอ่อนแอจากการขนส่ง รวมทั้งกับการปรับน้ำที่ไม่ดีพอ ก็อาจจะทำให้ปลาแสดงอาการป่วยที่เราก็เป็นได้ รวมไปถึงเชื้่อปรสิตทั้งหลายด้วย
แนวทางป้องกัน
- ปรับน้ำให้ถูกวิธีก่อนปล่อยปลาลงตู้ เพราะถ้าปลาอ่อนแอจากความต่างของคุณภาพน้ำ โรคที่ติดตัวปลามาอยู่ก่อนแล้ว อาจจะทำให้ปลาไม่สามารถปรับตัว และอาจจะตายได้เลยครับ
- กักโรคปลา 3-5 วัน โดยการใช้ยากำจัดปรสิต หรือใช้ฟอร์มาลีนในการป้องกันก็ได้ครับ
– ป่วยเพราะติดจากปลาที่เพิ่งนำมาเลี้ยงด้วยกัน
จะเกิดในกรณีที่เราซื้อปลาร่วมตู้ (ปลาเมท/แทงค์เมท) ตัวใหม่ๆเข้ามาโดยไม่ได้มีการกักเชื้อตั้งแต่แรก เหมือนกับกรณี Covid-19 ที่จะต้องเข้าสู่กระกวนการ state quarantine 14วันนั้นเองครับ
แนวทางป้องกัน กักโรคปลาตัวที่เพิ่งได้มา 3-5 วัน โดยการใช้ยากำจัดปรสิต หรือใช้ฟอร์มาลีนในการป้องกันก็ได้ครับ แต่ถ้าใช้ยาปฏิชีวะ ต้องรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 5 วันครับ
– ติดเชื้อมาจากอาหาร
พบได้บ่อยเหมือนกัน โดยเฉพาะอาหารสด หรือเหยื่อสดที่กินทั้งตัว สิ่งมีชีวิตที่จับจากธรรมชาตินั้น ล้วนมีเชื้อโรคจากธรรมชาติติดมาไม่มากก็น้อยอยู่แล้วครับ แต่โดยปกติปลาจะต้านทานโรคได้ แต่ปลากำลังอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันน้อยลง ปลาก็อาจจะไปได้ง่ายๆเหมือนกันครับ
แนวทางป้องกัน กรณีนี้ ก่อนจะให้ปลากิน ก็ต้องมีการล้างทำความสะอาดอาหารเหล่านั้นให้ดีก่อน ควรซื้ออาหารที่สดและสะอาดจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงเหยื่อสดที่กินทั้งตัว ต้องแน่ใจถึงความสะอาดของแหล่งที่ได้มา เพราะเราจะไม่สามารถทำความสะอาดได้เลย โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยตามบ้านเช่น แมลงสาบ จิ้งจก เป็นต้น
– การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อนจัด หนาวจัด สลับๆกัน ก็เป็นสาเหตุให้ปลาปรับตัวไม่ทัน ป่วยเอาดื้อๆเลยครับ
แนวทางป้องกัน ควรมีฮิตเตอร์ควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็ว โดยตั้งไว้ที่ 29-30 องศาเซลเซียล
– ปลาอ่อนแอเพราะคุณภาพน้ำต่ำ
เมื่อทำการวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นแล้วพบว่า
ค่า ph ไม่อยู่ในช่วง 7.0-8.5
ค่าแอมโมเนีย เกิน 0.5 ppm
ค่าไนไตรท์ เกิน 0.5 ppm
อุณหภูมิ สูงเกิน 30 องศาเซลเซียล
แนวทางป้องกัน เปลี่ยนน้ำให้บ่อยขึ้น และเพิ่มระบบกรองให้มากขึ้น เรื่องคุณภาพน้ำสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
การใส่ยาโดยไม่ให้เกิดผลเสียกับปลา จะต้องคำนวนทั้งปริมาณน้ำกับยาให้สัมพันธ์กัน
การรักษาปลามังกรป่วย (เบื้องต้น)
ยังคงย้ำว่า “การซื้อยามาใช้เองโดยไม่ได้ผ่านการวินิฉัยจากสัตวแพทย์นั้น เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก” แต่ด้วยที่สัตวแพทย์ด้านสัตว์น้ำโดยเฉพาะ ยังมีไม่มากพอเหมือนสัตว์แพยท์ที่รักษาสัตว์เลี้ยงทั่วไปเช่น สุนัข แมว ดังนั้นที่ผู้เลี้ยงปลาสวยงามเลยจำเป็นต้องเสี่ยงทำการรักษาด้วยตัวเอง ในเมื่อจะเสี่ยงทั้งที ก็ต้อแงเสี่ยงให้น้อยที่สุด เรามาดูแนวทางการรักษาปลามังกรในเบื้องต้นกันครับ
– ปลามังกรป่วย ที่เกิดจากเชื้อปรสิต
วิธีนี้สังเกตง่ายในบางชนิด ในปลามังกรที่พบบ่อยๆก็ เช่นหนอนสมอ จุดขาว ตัวเห็บทั้งหลาย เพราะเราจะเห็นตัวปรสิตออกมาจากตัวปลามังกรเลย แต่ในบางกรณีมันจะอยู่ในเหงือกทำให้แก้มปลามังกรปริออกมา (กรณีนี้เกล็ดจะไม่อ้า) หรืออาจจะตัวใสๆทำให้สังเกตได้ยากเช่นพวกเห็บบางชนิด
แนวทางรักษา
ใช้ยาประเภทกำจัดปรสิต และ ลด/เปลี่ยน อาหารเป็นๆที่กินทั้งตัว รวมถึงอย่าทิ้งเศษอาหารไว้ แม้กระทั้งเศษชิ้นเนื้อ เช่นพวกขากุ้งที่ปลากินเหลือก็ตาม
– ปลามังกรป่วย ที่เกิดจากการติดเชื้อภายนอก
ป่วยแบบนี้ จะสังเกตอาการได้ง่าย เช่นหนวดปลาหมึก หางเปื่อย ตาขุ่นและโปน เกล็ดกร่อน หัวเป็นรู หรือเชื้อรา หรือแม้กระทั่งปลาบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
แนวทางรักษา
ถ้าเป็นเชื้อราก็ให้ใช้ยาต้านเชื้อรา หากไม่ใช่ก็ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีหลายแบบและปริมาณของยา/น้ำในตู้ ก็แตกต่างกันด้วย สิ่งสำคัญที่ผมย้ำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะคือ ต้องคำนวนปริมาณน้ำในตู้ให้ถูกต้อง เพื่อที่จะรู้ปริมาณยาที่ต้องใส่ และต้องรักษาต่อเนื่อง 5 วันเป็นอย่างต่ำ แม้ว่าอาการป่วยของปลามังกรจะหายแล้วก็ตาม
– ปลามังกรป่วย ที่เกิดจากการติดเชื้อภายใน
วิธีนี้สังเกตยากที่สุด เพราะบางครั้งปลาจะไม่แสดงอาการอะไรออกมาเลย นอกจากว่ายอยู่นิ่งๆ ซึ่งเราก็จะไม่รู้ว่านิ่งเพราะเครียดหรือป่วยกันแน่ แต่จุดที่สังเกตได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว ปลาจะมีอาการเกล็ดอ้า ในบางครั้งจะมีลายเส้นดำๆที่ตัวเกล็ดด้วย
แนวทางรักษา
ใช้ยาปฏิชีวนะเช่นกัน ใส่ยาให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำในตู้ และต้องรักษาต่อเนื่อง 5 วันเป็นอย่างต่ำ แม้ว่าอาการป่วยของปลามังกรจะหายแล้วก็ตาม
*ในบางครั้งอาการเกล็ดอ้า อาจจะมาจากน้ำในตู้มีคุณภาพที่ต่ำจนกลายเป็นพิษกับตัวปลา ถ้าเป็นสาเหตุนี้ เราจะพบก้อนเม็ดเลือดจับตัวเป็นกลุ่มๆ กระจายไปทั่วเหงือก ให้รีบวัดคุณภาพน้ำ แก้ไขและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเช่นกัน
และนี้ก็เป็นทั้งหมดของสาเหตุหลักๆ ปลามังกรป่วย การสังเกตปลาป่วย และแนวทางป้องกัน อย่าลืมว่า การสังเกตอาการป่วยให้เป็น และเริ่มรักษาให้เร็ว จะเพิ่มโอกาสที่ปลาจะหายป่วยได้สูงมากๆ ส่วนยารักษาต่างๆ ก็ควรซื้อติดบ้านไว้จะเป็นการดีที่สุดครับ สามารถดูคลิปวีดีโอเรื่อง การรักษาปลาป่วยและบาดเจ็บ เพิ่มเติมได้ครับ
ขอบคุณที่ติดตามซีรีย์ การเลี้ยงปลามังกร เลี้ยงอย่างไรไม่ให้ตายทั้ง 4 ตอนจากหลงเจียงอโรวาน่าด้วย หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณครับ