การดูปลามังกรป่วย ที่พบบ่อยๆ
ในบทความนี้จะพูดถึงแต่ การดูปลามังกรป่วย ส่วนวิธีการรักษาและป้องกัน ผมได้ทำไว้ในลิงค์นี้ครับ –> การรักษาปลามังกรป่วย (เบื้องต้น)
เชื่อว่าหลายท่านไม่รู้ว่า แบบไหนคืออาการปกติ แบบไหนคือป่วยแบบที่ต้องใช้ยารักษาหรือ ปลาบางตัวอาจจะแค่เครียด ตกใจ เช่นปลาเกิดตกใจ ว่ายชนตู้ ซึ่งทำให้ปลาไม่กินอาหารในสักระยะ อาจทำให้เราเข้าใจว่าปลาป่วย หรือในบางครั้งสาเหตุอาจจะมาจากการรักษาคุณภาพน้ำที่ไม่ดีพอ ก็อาจจะทำให้ปลาเราป่วยเอาดื้อๆก็ได้ครับ
ถ้าเราสังเกตปลาป่วยเป็น ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายเป็นปกติ
การดูปลามังกรป่วย หรือลักษณะปลาที่มีแนวโน้มติดเชื้อ
- ปลามังกรไม่กินอาหาร
นี้คืออาการเริ่มต้นของแทบทุกตัวที่ป่วย ซึ่งปลาจะเริ่มไม่กินอาหาร … แต่!! ย้ำนะครับว่า ปลาที่ไม่กินอาหารไม่ได้แปลว่าป่วยนะครับ อาจจะเป็นเพราะเราไม่เปลี่ยนน้ำ คุณภาพน้ำแย่ อากาศเย็น หรือปลาตกใจ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน ทั้งนี้ให้เราลองมาดูอาการอื่นๆร่วมด้วยครับ - ปลามังกรหายใจหอบ เกิน 15 นาที
ให้เราดูที่ปากและเหงือกของปลามังกร ที่มีการอ้าและหุบสลับกัน ทั้งถี่และกว้างกว่าปกติ เกินกว่า 15 นาที ปกติแล้วปลาจะเป็นแบบนี้ในตอนที่เพิ่งเปลี่ยนน้ำ หรือตกใจและว่ายแบบเร็วๆ แต่จะกลับมาเป็นปกติภายใน10-15 นาที แต่เกินกว่านี้ แสดงว่ามีโอกาสที่ปลาจะติดเชื้อ ให้รีบเตรียมยาและน้ำเพื่อการรักษาครับ - เบ้าตาปลามังกรบวมกว่าปกติ
ให้เรานึกถึงคนที่เบ้าตาบวมเพราะโดนกระแทก หรือร้องไห้ทั้งคืนจนเบ้าตาบวม ปลามังกรก็จะมีลักษณะแบบนั้นครับ นี่เป็นลักษณะของปลาที่ติดเชื้อมาสักระยะแล้ว แบบนี้ให้รีบรักษาเลยครับ - ปลามังกรเกล็ดตั้ง ตัวบวมกว่าปกติ
ในแบบนี้เราจะเห็นปลาตัวบวมน้ำมากกว่าปกติ จนทำให้เกล็ดปลามังกรอ้า หรือบางท่านเรียกว่าเกล็ดตั้ง ซึ่งจะเกล็ดจะอ้าทั้งตัว ตาจะโปนออกมาชัดเจน (ในบางกรณีตัวไม่บวม แต่เกล็ดจะอ้าแค่บางจุด) - เกล็ดมีรอยช้ำแดง
เราจะเห็นชัดเจนที่บริเวณท้องปลา จะมีอาการบวมร่วมด้วย หรืออาจจะเกิดที่ขั้วของครีบท้อง - ปลามังกรหลังลอยพ้นน้ำ
เมื่อเราเห็นปลามังกรว่ายๆนิ่งๆ หลังลอยพ้นน้ำ (ย้ำว่าต้องพ้นผิวน้ำ) ปลาไม่มีการตอบโต้กับผู้เลี้ยง ถ้าเราไปแตะปลา ปลาจะสะดุ้งง่าย และว่ายแบบไม่มีทิศทาง สะเปะสะปะ และกลับมาลอยนิ่งๆ หลังลอยพ้นน้ำเหมือนเดิม ลักษณะแบบนี้ เป็นลักษณะปลามังกรป่วยอย่างชัดเจน - ทรงตัวลำบาก
เช่นปลามีท่าทางเหมือนจะหงายท้อง ประกอบกับการหายใจหอบ แบบนี้ให้รีบเตรียมอุปกรณ์บล๊อคตัวปลา และน้ำที่ไม่มีคลอรีนมาเตรียมไว้เลยครับ แต่ถ้าปลาว่ายหัวชี้ฟ้าหางทิ้งดิ่งลงตู้ มันจะมีทั้งแบบปลาป่วย และปลาตกใจอะไรสักอย่างแล้วว่ายชนตู้ ทั้งนี้เราต้องดูปัจจัยอื่นๆประกอบด้วยครับ - ปลาเอาหัวเชิดเหนือน้ำ ฮุบอากาศ และว่ายแบบไร้ทิศทาง
ปลาจะว่ายแบบระส่ำระส่ายที่ผิวน้ำ ไม่มีทิศทาง ว่ายชนตู้ สลับกับการเชิดหัว ฮุบอากาศเป็นระยะ และปลาไม่กินอาหารมาสักระยะแล้ว - เกล็ดมีลายเส้นดำๆ
เราจะเห็นเกล็ดปลามังกร มีลายเส้นเหมือนอักขระสีดำๆอย่างชัดเจนในเกือบทุกเกล็ด ในบางกรณีอาจจะมีอาการเกล็ดตั้งร่วมด้วย - ปลามังกรหางเปื่อย เกล็ดกร่อน
อาการนี้จะชัดเจนมาก คือหางจะเริ่มเปื่อย และเล็กลง กุดไปจนถึงโคนหาง ส่วนเกล็ดกร่อนคือ ที่ขอบเกล็ดจากเป็นทรงเหลื่ยมหรือกลมอย่างชัดเจน แต่กลับเว้าๆแหว่งๆเหมือนโดนอะไรแทะ และลามไปมากขึ้นในทุกๆวัน - ปลามังกรตาขุ่น
ตาขุ่นมีทั้งวุ่นตาเป็นรอยถลอกเล็กๆ ไปจนถึงขุ่นทั้งดวงตาเหมือนมีเมฆลอยอยู่ในตา ในบางกรณี วุ้นตาปลามังกรจะบวม โต เป็นสีขาวขุ่นอมเหลืองจนแทบมองไม่เห็นลูกตาภายใน - หนวดปลาหมึก
หนวดปลามังกร จากที่ยาวๆ ตรงๆ วันนึงเราจะเห็นว่ามัน หนา สั้นลง และมีตุ่มขึ้น ลักษณะเหมือนหนวดปลาหมึก - ปลาว่ายกระตุก ว่ายถูตัวกับตู้ หรือตัวสั่นเป็นช่วงๆ
นี่เป็นลักษณะของปลาที่มีปรสิตอยู่ภายในตัวครับ - ปลามังกรหัวเป็นรู
ที่บริเวณหัวของปลามังกร จะเห็นเป็นรูตื้นๆ ความกว้างมีตั้งแต่ประมาณ 2 มล. ไปจนถึงเป็นบริเวณทั้งหัวของปลามังกร แม้เป็นแค่รูเดียวก็ต้องรักษาทันทีครับ
อ่านเรื่องการดูปลามังกรป่วยแล้ว ก็มาอ่านย้อนหลัง 4 สาเหตุหลักๆที่ทำให้ปลาตายกันครับ
- ปลามังกรบาดเจ็บ (อ่านย้อนหลัง)
- ปลามังกรน๊อคน้ำ (อ่านย้อนหลัง)
- คุณภาพน้ำแย่ (อ่านย้อนหลัง)
- ปลามังกรป่วย (อ่านย้อนหลัง)
แนวทางป้องกัน เรื่องคุณภาพน้ำสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่